ขายเกลือเสริมไอโอดีนถุงเล็ก

ขายเกลือไอโอดีน

  ขายเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน ถุงเล็ก ขายส่งเหมาะสำหรับ ร้านค้าปลีก-ร้านค้าส่ง เพื่อจำหน่ายหรือ โรงพยาบาล สาธารณสุข รพ.สต.​ โรงพยาบาลส่งเสริม...

เรื่องเกลือ

เรื่องของเกลือ


                    ในปัจจุบัน เกลือเป็นของหาง่ายและราคาถูกจนทำให้เราไม่ค่อยได้นึกถึงความสำคัญของมันเท่าใดนัก ความจริงแล้ว เกลือมีความจำเป็นต่อชีวิตและความเจริญของมนุษย์มาโดยตลอด  เรื่องราวของเกลือทั้งในอดีตและปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเกลือเป็นสารชนิดหนึ่ง  ซึ่งร่างกายจะขาดเสียมิได้  เกลือทำหน้าที่ควบคุมปริมาณของน้ำในร่างกาย  ซึ่งรวมทั้งน้ำในเซลล์ต่าง ๆ และโลหิต  ความดันของโลหิต และความเป็นกรดหรือด่างของร่างกายก็ควบคุมโดยเกลือเช่นเดียวกัน ร่างกายมีวิธีควบคุมปริมาณของเกลือในสิ่งต่าง ๆ ให้เหมาะอยู่เสมอ  เกลือที่เรารับประทานเข้าไปเมื่อไปถึงลำไส้เล็กจะซึมเข้าโลหิต แล้วกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย  ในที่สุดร่างกายจะถ่ายเกลือออกมากับเหงื่อและปัสสาวะ  ถ้าเรารับประทานเกลือมากกว่าที่ร่างกายต้องการ  ร่างกายก็จะขับเกลือออกมามากกว่าปกติ  จนกระทั่งเกลืออยู่ในร่างกายพอเหมาะ  ฉะนั้นในเหงื่อและปัสสาวะของคนที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็มจัด  ซึ่งมีเกลืออยู่มากกว่าคนอื่น ในโอกาสใดก็ตาม ถ้าเรารับประทานเกลือไม่พอกับความต้องการของร่างกาย  การขับถ่ายเกลือออกก็ลดลง  ด้วยเหตุนี้คนที่อดอาหารเป็นเวลาหลายวัน  จึงแทบไม่มีเกลืออยู่ในปัสสาวะเลย

                    วันหนึ่ง ๆ เรารับประทานเกลือไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรสอาหารที่เราชอบและปริมาณของน้ำที่ร่างกายเสียไป  น้ำที่ออกมาจากร่างกาย  จะมีเกลือติดมาด้วยเสมอ  ด้วยเหตุนี้ เมื่อใดร่างกายต้องเสียน้ำมาก  เช่น  เวลาออกกำลังกายหรืออยู่ในที่ร้อน  เมื่อนั้นปริมาณเกลือก็ลดลงมาก  ร่างกายจึงต้องการเกลือมากกว่าปกติ  หรือเมื่อถ่ายท้องมาก ๆ   เช่น  ขณะเป็นอหิวาตกโรค  ร่างกายจะเสียเกลือมากจนเป็นอันตรายได้  จึงจำเป็นต้องมีการฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโลหิตเพื่อเป็นการทดแทนเกลือของร่างกายที่เสียไปตามปกติร่างกายได้เกลือจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป  เช่น  ปนอยู่ในกะปิ  น้ำปลา และอาหารเค็มต่าง ๆ  นอกจากนี้  เนื้อ  ปลา  น้ำนม  ผักและผลไม้ต่าง ๆ  ยังมีเกลืออยู่ตามธรรมชาติด้วย  อาหารจำพวกเนื้อและนมมีเกลืออยู่มากเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย  ฉะนั้นในสมัยก่อน  เมื่อคนรับประทานเนื้อและเลือดสัตว์เป็นอาหารส่วนใหญ่จึงไม่มีความต้องการเกลือเป็นพิเศษ  ต่อมาเมื่อมนุษย์ใช้พืชเป็นอาหารมากขึ้น  ความต้องการรับประทานเกลือจึงเพิ่มขึ้น  คนป่าในแอฟริกาบางจำพวกไม่มีเกลืออย่างของเรา  จึงต้องดื่มเลือดหรือปัสสาวะสัตว์แทนสัตว์อื่น ๆ  ก็ต้องการเกลือเช่นเดียวกับมนุษย์เหมือนกัน  สัตว์ที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหารก็ได้เกลือมาพร้อมกับอาหารนั้น  แต่สัตว์กินหญ้าหรือพืชอื่นได้เกลือจากอาหารไม่พอ  จำเป็นต้องแสวงหาเกลือกินเป็นการเพิ่มเติม  บางครั้งสัตว์พวกนี้ต้องเดินทางไปไกล ๆ  เพื่อแสวงหาเกลือจากดินโป่ง ในทำนองเดียวกัน  สัตว์เลี้ยง เช่น  ม้า  วัว  และควาย ก็มีความต้องการเกลือเพิ่มเติม  เมื่อสัตว์เหล่านี้กระหายเกลือมาก ๆ จะเลียเกลือจากผิวหนังของตัวเอง  หรือจากเสื้อผ้าและมือของคนเลี้ยงปริมาณเกลือที่ใช้ในปีหนึ่ง ๆ เพิ่มขึ้นตามความเจริญของมนุษย์  ในตอนแรก ๆ มนุษย์ใช้เกลือปรุงแต่งรสอาหารเท่านั้น  ต่อมาเมื่อค้นพบว่าเกลือช่วยรักษาปลาและเนื้อสัตว์อื่นมิให้เน่าเปื่อยได้ด้วย  ปริมาณเกลือที่ใช้จึงเพิ่มเป็นเงาตามตัว  จนในปัจจุบันนี้  เราต้องใช้เกลือในปีหนึ่ง ๆ ไม่น้อยกว่า  ๘๐ ล้านตัน  ซึ่งเกลือจำนวนนี้ส่วนมากใช้สำหรับการอุตสาหกรรม  แทบจะไม่มีอุตสาหกรรมใดเลยที่ไม่ต้องใช้เกลือ  ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม

                   เกลือที่กล่าวมาข้างต้นนี้  ในทางวิชาเคมีถือว่าเป็นสารประกอบ  เพราะเกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างธาตุสองธาตุ  คือ  ธาตุโซเดียมซึ่งเป็นโลหะ  และธาตุคลอรีนซึ่งเป็นก๊าซสีตองอ่อน มีกลิ่นฉุน  เมื่อเราผ่านกระแสไฟฟ้าลงไปในเกลือทำให้ร้อนจัดจนกระทั่งหลอมตัว  ธาตุทั้งสองจะแยกตัวออกจากกันเป็นโลหะโซเดียม และก๊าซคลอรีนกลับออกมา  วิธีนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ผลิตโลหะโซเดียมและก๊าซคลอรีนจากเกลือ  นอกจากนี้แล้วเรายังสามารถเปลี่ยนเกลือให้เป็นสารประกอบอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ได้อีกมากมายหลายชนิด  ด้วยเหตุนี้เกลือจึงเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ  ทั้งโดยตรงและทางอ้อม  เช่น  อุตสาหกรรมทำกระดาษ  แก้ว  พลาสติก  เสื้อผ้า  ยาฆ่าแมลง และยารักษาโรค  เป็นต้น  ประเทศใดที่มีความเจริญทางอุตสาหกรรมมากก็จำเป็นต้องใช้เกลือมาก  เช่น  บางประเทศ  ในปีหนึ่ง ๆ จะใช้เกลือถึง  ๒๔ ล้านตัน  บางประเทศใช้ปีละประมาณ  ๓ ล้านตัน  ส่วนประเทศเราใช้เพียงปีละประมาณ  ๑ แสนตันเท่านั้น

เกลือที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้  มีกำเนิดมาจากทะเลทั้งสิ้น  แม้กระทั่งเกลือสินเธาว์  หรือเกลือหิน  นักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าบริเวณซึ่งพบเกลือหินนั้น  ครั้งหนึ่งเคยเป็นทะเลมาก่อน  เมื่อน้ำทะเลแห้งลงด้วยการระเหย  เกลือก็จะแยกตัวออกมาทับถมอยู่ในทะเลนั้น   ต่อมาเมื่อน้ำทะเลแห้งหมด  และมีดินเกิดขึ้นปกคลุมเกลือเหล่านั้น  ก็กลายเป็นเกลือหินไป  เกลือซึ่งมีอยู่ในทะเลสาบ  ในน้ำบาดาล  หรือเกลือที่มีอยู่ในดินซึ่งเราละลายออกมาแล้วเคี่ยวให้แห้งเป็นเกลือสินเธาว์นั้น  ก็ล้วนแต่เป็นเกลือซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในทะเลเช่นเดียวกัน

                   ในปัจจุบัน  เกลือหินซึ่งพบอยู่ใต้ดิน ได้มีผู้ขุดหรือละลายขึ้นมาใช้มากกว่าเกลืออื่น ๆ  เพราะเป็นเกลือที่มีความบริสุทธิ์สูงและราคาถูก  ส่วนประเทศที่ไม่มีเกลือหินแต่มีสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสมก็ผลิตเกลือจากน้ำทะเล  โดยการทำนาเกลือ  ส่วนประเทศเรานั้นถึงแม้จะมีเกลือหินอยู่มากก็ยังคงต้องผลิตเกลือจากน้ำทะเลต่อไปอีกนานหรือจนกว่าค่าใช้จ่ายในการขุดเกลือหินตลอดจนค่าขนส่งลดลงมากเพียงพอที่จะทำให้ราคาเกลือหินสู้ราคาเกลือสมุทรได้

ประเทศเราผลิตเกลือสมุทรได้ปีละประมาณ  ๓-๔ แสนตัน   ในจำนวนนี้เราใช้เองภายในประเทศราวหนึ่งแสนตัน  ที่เหลือเราส่งไปขายยังต่างประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นใช้เกลือที่ซื้อไปสำหรับการอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่  เกลือสำหรับใช้อุตสาหกรรมนี้  ถ้าเป็นเกลือที่มีคุณภาพสูง  กล่าวคือเป็นเกลือที่มีสิ่งอื่นซึ่งไม่ใช่เกลือปนอยู่น้อย  ก็จะไม่ทำให้เกิดความยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายในการทำให้เกลือนั้นบริสุทธิ์ก่อนใช้มากนัก  ตรงกันข้าม  ถ้าเกลือมีสิ่งอื่นเจือปนอยู่มาก ค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากในการทำให้เกลือบริสุทธิ์ก็จะเพิ่มขึ้นมาก  อีกประการหนึ่งผู้ซื้อยังต้องเสียค่าขนส่งสำหรับสิ่งอื่นซึ่งติดไปกับเกลือด้วย  โดยเหตุนี้โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงแสวงหาเกลือที่มีคุณภาพสูงเสมอ  เกลือที่เราผลิตขึ้นมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันมีความบริสุทธิ์ประมาณร้อยละ  ๘๖ เท่านั้น  ในสมัยก่อนเมื่อประเทศญี่ปุ่นหาซื้อเกลือที่มีคุณภาพสูงราคาต่ำจากที่อื่นไม่ได้มากพอ  ก็ซื้อเกลือซึ่งมีคุณภาพต่ำของเราไปใช้เป็นจำนวนมาก  ในปัจจุบัน  ประเทศญี่ปุ่นสามารถซื้อเกลือที่มีความบริสุทธิ์เกินร้อยละ  ๙๐ ขึ้นไป  จากประเทศอื่นได้เพียงพอ  จึงซื้อเกลือจากประเทศเราน้อยลง  ยังผลให้ราคาเกลือในประเทศของเราต่ำลงมาก  จนเป็นที่เดือดร้อนแก่ชาวนาเกลือดังที่ทราบกันอยู่แล้ว

เพื่อแก้ไขปัญหานี้  กรมวิทยาศาสตร์ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ศึกษาและหาวิธีปรับปรุงคุณภาพของเกลือของเราให้ดีขึ้น   จากการศึกษาค้นคว้าโดยละเอียด  กรมวิทยาศาสตร์พบว่าการที่เราผลิตได้เกลือที่มีคุณภาพต่ำนั้น  เป็นเพราะธรรมชาติโดยแท้   มิใช่เป็นเพราะชาวนาเกลือของเราใช้วิธีไม่เหมาะสม   ดังที่คนส่วนมากเข้าใจแต่อย่างใดเลย    ผู้เขียนได้ไปศึกษาวิธีทำนาเกลือของประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ  รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมากที่ว่า  วิธีที่ชาวนาเกลือใช้อยู่นี้ก็เป็นวิธีเดียวกับที่ใช้ในประเทศอื่น ๆ ที่ผลิตเกลือมีคุณภาพสูงได้ แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็มิได้ใช้วิธีดีไปกว่าชาวนาเกลือของเราเลย  บางประเทศเสียอีกยังใช้วิธีที่ล้าสมัยกว่าประเทศเราแต่กลับได้เกลือที่ดีกว่า  ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่น่าสนใจไม่น้อยความจริงแล้ว ยังมีอยู่หลายประเทศที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับประเทศเรา และยังมิได้แก้ปัญหานั้นให้ลุล่วงไปได้  ส่วนมากก็โทษผู้ผลิตเช่นเดียวกันกับที่เราได้เคยโทษชาวนาเกลือมาแล้วนั้นเอง

การค้นพบเหตุที่ทำให้เกลือมีคุณภาพต่ำตลอดจนวิธีแก้ไขของกรมวิทยาศาสตร์นี้  นับว่าเป็นของใหม่ไม่มีใครทราบมาก่อนเลย  ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  การค้นพบครั้งนี้  จึงมิได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศเราเท่านั้น  แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่น ๆ ทั้งในด้านวิชาการและในทางปฏิบัติด้วย   สิ่งที่กรมวิทยาศาสตร์ค้นพบนั้น  อาจจะสรุปกล่าวได้สั้น ๆ ดังนี้  คือ  ถ้าน้ำทะเลซึ่งปล่อยให้ระเหยไปโดยแดดและลมจนข้นพอที่จะเกิดเม็ดเกลือหรือที่เรียกว่า “น้ำเชื้อ”  มีสารชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่ามังกานีสปนอยู่ประมาณ  ๒-๔ ส่วนในน้ำเชื้อล้านส่วน  แล้วเกลือที่เกิดขึ้นจะมีคุณภาพต่ำ  ถ้าน้ำทะเลนั้นมีมังกานีสน้อยหรือมากกว่านี้  เกลือก็จะมีคุณภาพสูงขึ้นตามส่วน  จากการวิเคราะห์  ปริมาณมังกานีสในน้ำเชื้อจากนาเกลือต่าง ๆ  ทั้งในประเทศเรา หรือที่เก็บมาจากประเทศอื่นหลายประเทศก็ปรากฏว่าเป็นไปตามที่กล่าวแล้วนั้น  น้ำเชื้อจากนาเกลือของเราส่วนมากมีมังกานีสอยู่ในปริมาณที่จะทำให้เกลือซึ่งมีคุณภาพต่ำพอดี   ส่วนน้ำเชื้อในนาเกลือจากประเทศที่ผลิตเกลือได้ดี  มีมังกานีสอยู่น้อยกว่าน้ำเชื้อในนาเกลือของเรามากมังกานีสซึ่งพบอยู่ในน้ำเชื้อเข้มข้นนั้น  ส่วนมากละลายมาจากดินพื้นนานั้นเอง  ดินในบริเวณนาเกลือของเรามีมังกานีสอยู่มากกว่าดินในบริเวณนาเกลือของประเทศอื่นถึง  ๑๐ เท่า  จึงนับว่าเป็นโชคร้ายของเราโดยแท้

อย่างไรก็ตาม  ปัญหานี้พอมีทางจะแก้ไขได้ คือ เมื่อเราพบว่าน้ำเชื้อที่มีมังกานีสอยู่น้อยจริง ๆ หรือมีอยู่มากจริง ๆ ให้เกลือที่มีคุณภาพสูง  วิธีปรับปรุงคุณภาพเกลือจึงขึ้นอยู่กับการแยกมังกานีสออกมา  หรือเติมมังกานีสเข้าไป  กรมวิทยาศาสตร์ได้ทดลองแล้วปรากฏว่าได้ผลดีทั้งสองวิธี   แต่ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์กำลังแนะนำให้ชาวนาเกลือใช้วิธีแรก  คือ  แยกมังกานีสออกมา  วิธีนี้ทำได้ง่ายและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  กล่าวคือเพียงแต่เติมปูนขาวจำนวนหนึ่งลงไปในน้ำเชื้อ  มังกานีสก็จะแยกตัวออกมาและไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการตกผลึกของเกลืออีกต่อไป  เกลือที่ได้มีคุณภาพสูงเกินร้อยละ  ๙๐ และถ้าทำได้ถูกต้องจริงแล้ว  คุณภาพของเกลือจะสูงขึ้นได้ถึงร้อยละ  ๙๗    สรุปได้ว่า  บัดนี้เราได้แก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพเกลือของเราได้แล้ว  ถ้าได้มีการแก้ปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายและผลิตเกลือให้ลุล่วงไปได้อีกด้วย  อุตสาหกรรมทำนาเกลือของเราก็จะเจริญขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งได้  แต่ถ้าไม่มีใครเหลียวแล  เพราะความเบื่อหน่ายก็ดี  หรือมองไม่เห็นประโยชน์และความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ก็ดี  สิ่งที่กรมวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบด้วยความยากลำบากนี้ก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศของเราเลย  แต่กลับเป็นประโยชน์แก่ประเทศอื่น ๆ ซึ่งกำลังปรับปรุงอุตสาหกรรมการทำนาเกลือของเขาอย่างจริงจัง  จึงขอฝากข้อคิดนี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วย


ขอขอบคุณบทความดีดีจาก สถาบันปรีดี พนมยงค์

ไม่มีความคิดเห็น: