อากาศเริ่มร้อนเข้าสู่ภาวะปกติของคิมหันต์ฤดู คนส่วนใหญ่จึงนิยมมุ่งหน้าสู่ทะเลนั่งตากลมคลายร้อน และลงเล่นน้ำทะเล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทะเลสวยกว่าฤดูฝน เที่ยวทะเลแล้วนึกถึงเกลือ เพราะความเค็มของน้ำทะเล และเพราะนั่งรถผ่านชายทะเลยังเห็นนาเกลือ แม่ค้าขายเกลือข้างทางมากมาย
เกลือคู่กับความเค็ม ใครที่เคยอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์มติชน เรื่อง "ประวัติศาสตร์โลกผ่านเกลือ" จะเข้าใจประโยชน์ของเกลือ และการค้าขายในอดีตจนถึงปัจจุบันอย่างดี ใครจะนึกว่าเคยมีภาษีเกลือและมีสงครามแย่งชิงเกลือ หากยังไม่ได้อ่านลองหาอ่านยามลาพักร้อนในเดือนร้อนๆ แบบนี้นะ
มาพูดถึงความเค็มของเกลือ คนทั่วไปมักใช้ประโยชน์ในการประกอบอาหาร และการถนอมอาหาร ขอแยกแยะเป็นความรู้เบื้องต้นของเกลือตามโครงสร้างทางเคมีสักนิด คือ เกลือประกอบด้วย โซเดียมและคลอไรด์ พูดตามภาษาเคมี เกลือธรรมดา (Normal Salt) ก็คือ โซเดียมคลอไรด์ (NaCl) นั่นเอง แต่ยังมีเกลือตามโครงสร้างเคมีอีกมากมาย เช่น เกลือกรด (Acid Salt) เกลือด่าง (Basic Salt) และเกลือผสม (Double Salts)
แต่คนทั่วไปก็ไม่รู้หรอกว่าเกลือ 3-4 ชนิดนั้นเอาไปใช้ทำอะไรที่ต่างกัน คนทั่วไปมักจะรู้จักเกลือที่นำไปกินกันในชีวิตประจำวัน พูดกันง่ายๆ รู้จักอยู่ 2 อย่าง เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "เกลือสมุทรหรือเกลือทะเลหรือเกลือแกง" และอีกอย่างคือ "เกลือสินเธาว์หรือเกลือบาดาล"
เกลือสมุทร ชื่อบอกอยู่แล้วว่าเป็นเกลือที่ได้มาจากน้ำทะเล มีส่วนประกอบของโซเดียมคลอไรด์ต่ำกว่าเกลือสินเธาว์ แต่มีสารที่สำคัญต่อสุขภาพคือไอโอดีน เกลือสมุทรเกิดจากการทำให้น้ำทะเลตกผลึกโดยใช้แสงอาทิตย์ในภาษาอังกฤษจึงเรียกเกลือชนิดนี้ว่า Solar Salt
ผลึกของเกลือมีรูปร่าง 2 แบบ ใครที่สนใจตำรับยาโบราณหรือแม่ครัวยุคเก่าก็รู้ดีว่ามีการเรียกเกลือได้ 2 แบบ คือ เกลือตัวผู้ เม็ดเกลือจะมีรูปร่างลักษณะเป็นเม็ดยาวแหลม ชาวนาเกลือจะใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นคือ นำไปผสมน้ำมะนาวจะแก้ไอได้ดี หรือใช้อุดฟันแก้ปวดก็ได้
ส่วน เกลือตัวเมีย เม็ดเกลือจะมีรูปร่างลักษณะแบนเป็นเหลี่ยม ประโยชน์ของเกลือตัวเมียสามารถใช้ได้สารพัดประโยชน์ ใช้บริโภค ใช้ดองผัก ดองปลา ทำน้ำปลา และใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ
สำหรับเกลือสินเธาว์ ชื่อก็บอกอีกเช่นกันว่าเป็นเกลือที่ได้มาจากดิน กระบวนการผลิตเกลือชนิดนี้มีหลากหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่เป็นการละลายเกลือที่อยู่ใต้ดินโดยใช้น้ำบาดาล แล้วนำน้ำเกลือมาต้มหรือทำให้เกลือตกผลึกโดยแสงแดด
เกลือสินเธาว์มีผลึกขนาดเล็กและมีส่วนประกอบของโซเดียมคลอไรด์สูงกว่าเกลือสมุทรแต่ไม่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ เรียกว่าได้อย่างเสียอย่าง
ดังที่ใครอ่านหนังสือ "ประวัติศาสตร์โลกผ่านเกลือ" ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าเกลือเป็นมากกว่าของรสเค็มๆ เป็นมากกว่าเครื่องปรุงรสและถนอมอาหาร ในด้านสุขภาพเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเกลือมีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ หากขาดเกลือทำให้เจ็บป่วยได้
แต่กินมากไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพเช่นกัน
ในตำรายาไทยได้มีการกล่าวถึงสรรพคุณของเกลือในอีกรูปลักษณ์หนึ่งที่คนรุ่นใหม่ยังไม่ได้รับทราบ ในเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่แบบโบราณของไทย จึงขอนำเรื่องเก่าที่ทรงคุณค่าและยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในยุคนี้มาเล่าสู่กันฟัง
จากตำราสรรพคุณยาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ซึ่งท่านได้รับการยกย่องจากยูเนสโกเมื่อปี 2551 ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งมีผลงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขที่สำคัญ คือ ตำราสรรพคุณยาสมุนไพร
เป็นตำราเกี่ยวกับคุณประโยชน์และโทษของสมุนไพรไทย จำนวน 166 ชนิด ที่ใช้ในการรักษาโรคในการแพทย์ไทยแผนโบราณเป็นตำราสมุนไพรเล่มแรกของไทยที่ เขียนแบบเอกสารทางวิชาการ แจกแจง และวิเคราะห์ส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด
และใครที่ชื่นชมความรู้จากวัดโพธิ์ ก็ขอให้ทราบว่า ท่านเป็นผู้จารึกคำประพันธ์ไว้บนแผ่นหิน ที่บรรยายการบำบัดโรคด้วยสมุนไพร และท่า "ฤๅษีดัดตน" ที่มีเรียงรายอยู่ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์นั่นเอง
ตำรับยาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทได้กล่าวไว้ว่า เกลือที่ใช้เป็นยามี 5 ประเภท คือ เกลือสินเธาว์ เกลือพิก เกลือฝ่อ เกลือสมุทรี และ เกลือวิก แต่ละชนิดเกิดจากกระบวนการปรุงที่แตกต่างกัน
เริ่มต้นให้เอาเกลือสมุทรมาตำให้ละเอียด เอาน้ำใส่พอสมควร (ท่านไม่ได้บอกปริมาณแน่ชัดน่าจะเนื่องมาจากเกลือที่นำมาใช้มีปริมาณน้ำในเกลือแต่ละแหล่งและช่วงเวลาไม่เท่ากัน จึงให้ผู้ประกอบยาได้พิจารณาจากประสบการณ์ว่าควรใส่น้ำเท่าใด ซึ่งข้อนี้ได้แสดงให้เห็นว่าหมอแต่อดีตมีความชำนาญในการปรุงยา)
แล้วนำไปต้มด้วยหม้อใหม่ (หมายถึงหม้อดิน) ให้แห้ง แล้วสุมไฟจนหม้อแดง แล้วนำเกลือนั้นมาแบ่งเป็น 5 ส่วน แต่ละส่วนนำมาปรุงเป็นเกลือแต่ละประเภท ดังนี้
การปรุงเกลือสินเธาว์ ให้เอาเกลือที่เตรียมไว้แล้วมาผสมน้ำนมวัว เคี่ยวไปจนแห้งประมาณ 3 วัน เกลือสินเธาว์ใช้แก้โรค 3 อาการคือ
1. พรรดึก (อ่านว่า พันระดึก) หมายถึงอาการท้องผูกมาก มีอุจจาระเป็นก้อนแข็งคล้ายขี้แพะ
2. แก้ระส่ำระสาย ในที่นี้น่าจะหมายถึงอาการที่เกิดจากการหมุนเวียนของโลหิตไม่ปกติ ทำให้เกิดความผิดปกติของลมในร่างกายทำให้เกิดอาการระส่ำระสาย
3. แก้ตรีโทษ คือ เสมหะ ขับลม และบำรุงน้ำดี
ความรู้ของท่าน ได้ปรากฏในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตำราหลักของแพทย์แผนไทย ได้กล่าวไว้ว่าให้เอาน้ำนมโคเท่ากับเกลือ 1 ส่วน ลงกวนสามวันให้แห้ง จึงได้ชื่อว่าเกลือสินเธาว์ มีรสเค็มมัน สรรพคุณ แก้พรรดึก แก้ระส่ำระสาย แก้ไข้ตรีโทษ (เป็นโทษที่เกิดจาก ปิตตะ วาตะและเสมหะร่วมกัน) และแก้นิ่ว
ที่มา : โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น