ขายเกลือเสริมไอโอดีนถุงเล็ก

เกลือไอโอดีน

  ขายเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน ถุงเล็ก ขายส่งเหมาะสำหรับ ร้านค้าปลีก-ร้านค้าส่ง เพื่อจำหน่ายหรือ โรงพยาบาล สาธารณสุข รพ.สต.​ โรงพยาบาลส่งเสริม...

ขาดเกลือต้องแพ้ศีก

 อยุธยากับภารกิจพิชิตเกลือ

ขาดเกลือต้องแพ้ศึก อยุธยาทำอย่างไรเมื่อถูกล้านนาตัดเส้นทางค้าเกลือ

ทุกคนน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วใช่ไหมล่ะครับ ว่าในสมัยโบราณเนี่ยเกลือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมาก ถ้าใครนึกไม่ออกว่าสำคัญขนาดไหนก็ลองเอาไปเทียบกับเครื่องเทศดู เครื่องเทศเป็นสินค้าราคาแพงที่ใช้ปรุงอาหารให้มีกลิ่นรส (Flavor) ส่วนเกลือเป็นวัตถุดิบที่เอาไว้ชูรสชาติ (Taste) ถ้าเรามีแต่เครื่องเทศแต่ไม่มีเกลือ อาหารก็มีแต่กลิ่นรสไม่มีตัวชูรสชาติ ดังนั้นในดินแดนที่ไม่สามารถผลิตเกลือสมุทรเองได้ เกลือจึงเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการสูงมาก

โดยเฉพาะในสังคมอยุธยาสมัยศักดินาที่อาหารการกินส่วนใหญ่ของชาวบ้านมักจะประกอบไปด้วยข้าว ผัก และปลา (นานๆ ทีจะได้กินสัตว์ใหญ่อย่างหมูหรือเนื้อ) ตามสภาพภูมิประเทศและวิถีชีวิตที่ยึดโยงกับไร่นา ป่าไม้และแม่น้ำ เกลือจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญในทุกครัวเรือนเพราะถ้าไม่มีเกลือปลาจะไม่อร่อย นอกจากจะใช้ใส่อาหารตรงๆ แล้ว เกลือยังใช้หมักทำน้ำปลา และใช้ถนอมอาหารอีกด้วย

นอกจากความสำคัญในระดับครัวเรือนแล้ว เกลือยังถือเป็นยุทธปัจจัยที่มีความสำคัญในยามศึกสงคราม พระเจ้าตากสินถึงขนาดสร้างฉางเกลือไว้เก็บเป็นเสบียงยามศึกโดยเฉพาะ เพราะกรุงธนบุรีไม่เคยว่างเว้นจากการศึก (ปัจจุบันฉางเกลืออยู่ในวัดโมลีโลก) เกลือนั้นนอกจากจะใช้ปรุงอาหารในค่ายและถนอมอาหารให้เดินทัพได้นานๆ แล้ว เกลือยังมีความสำคัญกับเรี่ยวแรงของทหารในทัพอีกด้วย เพราะการรบทัพจับศึกที่ใช้พละกำลังจนเหงื่อโชกเป็นแรมเดือนนั้นย่อมต้องทำให้ทหารอ่อนล้าและสูญเสียแร่ธาตุ ทหารในกองทัพจึงต้องการเกลือมาบำรุงกำลังวังชาเหมือนที่เราต้องดื่มเกลือแร่หลังออกกำลังกายหรือตอนท้องเสีย นอกจากทหารแล้วพวกสัตว์อย่างม้าศึกเองก็จำเป็นต้องกินเกลือด้วย มิเช่นนั้นก็ไม่มีแรงวิ่งเช่นกัน จึงเรียกได้ว่าในสมัยโบราณหากอาณาจักรไหนขาดเกลือก็เกียมขิตได้เลย

พวกเราที่เกิดในยุคอุตสาหกรรมเกลือสมุทรเฟื่องฟูอาจจะไม่ได้สัมผัสถึงคุณค่าของเกลือสินเธาว์ หลายอาณาจักรในอดีตไม่รู้วิธีผลิตเกลือสมุทร (Sea salt) ทำให้ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเกลือสินเธาว์ (Rock Salt) ดินแดนแถบประเทศไทยในอดีตมีแหล่งผลิตเกลือขนาดใหญ่อยู่ไม่กี่ที่เท่านั้น คือ

1.วรนครแห่งปัว - ปัจจุบันคือจังหวัดน่าน เป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ที่ใหญ่ที่สุดในแถบนี้ วรนครทำการผลิตเกลือโดยตักน้ำเกลือธรรมชาติ (Brine) จากที่เกิดจากชั้นหินเกลือใต้ภูเขามาต้มให้น้ำระเหย เกลือน่านเป็นเกลือสินเธาว์ที่ขาวจั๊วะคุณภาพดี เป็นสินค้าที่สร้างอำนาจทางเศรษฐกิจให้กับวรนครผ่านการค้าขายกับอาณาจักรสุโขทัย

2. ดินแดนแถบที่ราบสูงโคราช - กินพื้นที่หลายจังหวัดในภาคอีสานปัจจุบัน แต่เกลือสินเธาว์ที่นี่มีกรรมวิธีการผลิตแตกต่างจากของน่าน คือจะใช้ดินเค็มมาละลายน้ำ แล้วเอาน้ำไปต้มต่อให้น้ำระเหยจนได้ผลึกเกลืออีกทีหนึ่ง ด้วยการผลิตที่เพิ่มขั้นตอนเข้ามาจึงทำให้ดินแดนแถบนี้ผลิตเกลือสินเธาว์ได้น้อยกว่า ช้ากว่า สีคล้ำกว่า และผลิตเฉพาะฤดูหลังนาเท่านั้น นอกจากนั้นผลผลิตส่วนใหญ่ก็ถูกส่งไปขายให้อาณาจักรของเขมร

3. จีน - เป็นชนชาติเดียวแถบนี้ที่มีปัญญาผลิตเกลือสมุทรได้ เกลือเป็นสินค้าผูกขาดโดยราชสำนัก วิธีการผลิตเกลือสมุทรเป็นความลับที่ห้ามเปิดเผย ปัญญาชนที่รู้กระบวนการผลิตเกลือสมุทรจะถูกสั่งห้ามย้ายถิ่นฐานเพื่อป้องกันความลับรั่วไหล
.
เนื่องจากเกลือสินเธาว์อีสานผลิตได้ยากกว่าและมีคู่ค้าคือเขมรอยู่แล้ว และเกลือสมุทรจีนก็ต้องเดินทางไปซื้อถึงถิ่น เกลือน่านหรือเกลือวรนครจึงเป็นผู้ผลิตที่ทรงอิทธิพลที่สุดในละแวกนี้

การผลิตเกลือของเมืองปัวจะมีลักษณะเหมือนสังคมศักดินาทั่วไปในยุคนั้น คือ บ่อเกลือทั้ง 9 บ่อถูกผูกขาดโดยคนของราชวงศ์ภูคาที่ปกครองกลุ่มนครรัฐน่าน ไพร่พลถูกเกณฑ์มาตักเกลือต้มเกลือและบรรทุกวัวออกไปขายให้กับดินแดนรอบข้าง โดยมีสุโขทัยเป็นจุดรับซื้อสินค้าที่จะบรรทุกเรือลงแม่น้ำยมลงไปดินแดนทางใต้ถึงอยุธยาและเมืองติดทะเล (แน่นอนว่าเมืองติดทะเลก็ต้องการเกลือ เพราะสมัยนั้นไม่มีใครรู้ว่าทำนาเกลือสมุทรอย่างไร ครั้นเอาน้ำทะเลมาต้มก็ได้เกลือปริมาณน้อยมากจนไม่คุ้มเวลา) ด้วยความที่น่านทำมาค้าขายกับสุโขทัยเป็นหลัก จึงทำให้ความสัมพันธ์ของสองรัฐนี้แนบแน่นเป็นอย่างยิ่ง

และแล้วความตึงเครียดก็บังเกิด ใน ค.ศ. 1450 พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาส่งกองทัพมายึดเมืองปัวและเริ่มบอยคอตไม่ส่งเกลือมาขายที่สุโขทัย (รวมถึงเกลือจากแหล่งผลิตขนาดเล็กในเมืองอื่น เช่น เขลางค์ เชียงคำ เชียงของ) ทำให้เส้นทางการค้าเกลือสู่แดนใต้ขาดสะบั้น ผลของการยึดเมืองปัวเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พระยายุทธิษฐิระแห่งเมืองสองแควชิงหักหลังอยุธยาไปเข้ากับล้านนา (ประวัติศาสตร์กระแสหลักให้เหตุผลว่าพระยายุทธิษฐิระงอนพระบรมไตรโลกนาถ) และการหักหลังของพระยายุทธิษฐิระนี้เอง ก็ได้กลายเป็นชนวนเหตุของสงครามอยุธยา-ล้านนา (ครั้งที่ 2) ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ

สงครามอยุธยา-ล้านนาครั้งนี้กินระยะเวลาราว 24 ปี ตั้งแต่ปี 1451 จนถึงปี 1475 ในขณะที่สงครามดำเนินไปอย่างเชือดเฉือนทั้งบุ๋นบู๊ อยุธยาก็ถูกตัดเส้นทางลำเลียงเกลือจากแหล่งผลิตแดนเหนือนานกว่าทศวรรษจนทำให้ชาวอยุธยาเดือดร้อนทั้งเจ้านายทั้งไพร่ เกิดเป็นวิกฤตขาดแคลนเกลือครั้งใหญ่ขึ้น

อยุธยาพยายามแก้เกมโดยการหาแหล่งขายเกลือแหล่งใหม่ ในขั้นต้นอยุธยาได้จ้างคนจีนชื่อ "เจี่ยบุ้งปิง" มาเป็นขุนนางและให้เดินทางไปค้าขายกับจีน และในขากลับนั้นเอง เจี่ยบุ้งปิงก็ได้ลอบซื้อเกลือเถื่อนกลับมาเป็นจำนวนมาก จนจักรพรรดิจีนต้อง "สั่งให้อำมาตย์ตักเตือนห้ามปรามพวก 'ฮวน' มิให้กระทำเช่นนั้นอีก"

ในภายหลังไม่ทราบว่าอยุธยาใช้กลอุบายอันใด หรือมีภารกิจรอบเร้นแฝงกายอย่างไรบ้าง แต่สุดท้ายแล้วอยุธยาก็ได้สูตรการทำนาเกลือสมุทรมา!!

หลักการทำงานของนาเกลือสมุทรก็คือ แบ่งพื้นที่นาไว้เป็นส่วนๆ วิดน้ำทะเลเข้านาส่วนแรกทิ้งไว้ให้ตกตะกอนจนใส จากนั้นจึงส่งน้ำไปส่วนต่อไปเพื่อตากแดดให้ระเหยจนมีความเค็มมากขึ้น ทำซ้ำอีกสองครั้งจนเกิดผลึกเกลือขึ้นพร้อมเก็บเกี่ยว

อยุธยาเริ่มเมกะโปรเจกต์ทดลองทำนาเกลือสมุทรครั้งแรกในสมัยพระบรมไตรโลกนาถทันที โปรเจกต์นี้หลานของพระบรมไตรโลกนาถพาไพร่พลไปทดลองทำกันครั้งแรกที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ดังที่เอกสารตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่าไว้ว่า

“…พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราราชกษัตริย์พระบวรเชษฐา พระราชกุมารอันเป็นพระเจ้าหลาน และพระก็ลาพระปู่พระย่ามาตั้งที่เพชรบุรี ท่านเอาพลมา 33,000 ช้างพังพลาย 500 ม้า 700 พลอันตามท่านมาเองนั้น 5,400 ท่านตั้งรั้ววัง เรือนหลวงหน้าพระลาน เรือนชาวแม่พระสนม แล้วก็ให้ท่านทำนาเกลือ แลท่านก็เอามาถวายแก่พระเจ้าปู่พระเจ้าย่าๆ ท่านก็ชื่นชมนักหนาว่าพระเจ้าหลานเรารู้หลัก มีบุญญาอันประเสริฐทุกประการ…”

เมื่ออยุธยาสามารถผลิตเกลือได้เองในปริมาณมหาศาล อยุธยาและหัวเมืองทางใต้ก็ไม่จำเป็นต้องง้อล้านนาอีกต่อไป และแล้วภูมิภาคนี้ก็ได้ผู้ผลิตเกลือรายใหม่คือเมืองเพชรบุรีซึ่งเป็นหัวเมืองของอาณาจักรอยุธยา อาณาจักรที่กำลังจะเรืองอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ในกาลต่อมาครับ

อ้างอิง

ศุภกาณฑ์ นานรัมย์. (2564). ความเป็นพหุสังคมอยุธยากับวัฒนธรรมอาหารเพื่อการท่องเที่ยว ตามรอยเสด็จประพาสต้นพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. https://bit.ly/3QRnhSe

คมชัดลึก. (2565). ชม วิหารฉางเกลือ วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร. https://bit.ly/3eYRpOn

ภาสพันธ์ ปานสีดา. (2563). “กองเกียกกาย”..หัวใจหลักแห่งปากท้องกองทัพ. https://bit.ly/3BOvylD

เพ็ญสุภา สุขคตะ. (2561). “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (23) เกลือเมืองน่าน : ยุทธศาสตร์ร้อนแรงแห่งสมรภูมิเลือด ล้านนา-อยุธยา. https://bit.ly/3RVPN6w

กฤช เหลือลมัย. (2561). เกลือสินเธาว์โบราณ ที่ “บ่อกระถิน” แหล่งทำเกลือสินเธาว์แบบพื้นบ้านสืบเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน. https://bit.ly/3Ll1nWc

ประทีป ชุมพล. (2542). ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม เน้นเฉพาะเรื่องการทำนาเกลือสมุทรระหว่างเมืองเพชรบุรี-เมืองนครศรีธรรมราช (พุทธศตวรรษที่ 19-22) : การตีความในเอกสารท้องถิ่น. https://bit.ly/3Dxs5ZS



เกลือสินเธาว์หรือเกลือหิน

 ภาพ "การผลิตเกลือ"  เมื่อครั้งอดีต..ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐

"เกลือสินเธาว์' (*หรือ  "เกลือหิน")


"ภาคอีสาน" มีชุมชนที่ผลิตเกลือในระดับอุตสาหกรรมโบราณ

มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์..

ดังหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในบริเวณ.. 

  #"บ่อพันขัน" เขตทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด..

  #"ลุ่มน้ำสงคราม" แอ่งสกลนคร..


หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ในหน้าแล้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์..

ตามท้องนาจะมี "ดินเอียด" หรือ

ที่ชาวอีสานเรียกว่า "ขี้ทา"

(*"ดินเค็ม" ที่มีละอองหรือส่าเกลือ)

ขึ้นมาบนผิวดินให้เห็นเป็นสีขาวหรือสีเทา ชาวบ้านลงมือ "ขูดดินเอียด" เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการ "ต้มเกลือ"


ก่อนต้มเกลือชาวบ้านจะทำพิธี "บอกกล่าวเจ้าที่" เพื่อเป็นศิริมงคล ขอให้การต้มเกลือไม่มีอุปสรรค และให้ได้ผลผลิตมากตามต้องการ จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการต้มเกลือ..


โดยนำ "ดินเอียดผสมแกลบข้าว"

(*หรือเศษฟาง)

ใส่ใน "รางเกรอะน้ำเกลือ"

มีลักษณะคล้าย "เรือ" ความยาวประมาณ ๒ - ๔ เมตร.. 


หรือบางท้องที่ อาจใช้อ่างปูนซีเมนต์แทน เมื่อเทน้ำสะอาดใส่ในรางเกรอะเกลือ..

"น้ำเอียด" ที่ผ่านการกรองแบบธรรมชาติจะไหลออกจากรู ลงในภาชนะที่รองไว้ด้านล่างของรางเกรอะ..

เพื่อให้ได้น้ำเอียดที่เพียงพอต่อการต้มแต่ละครั้ง..


โดยชาวบ้านจะใช้ภูมิปัญญาการ "วัดความเค็ม" จากน้ำที่รองได้ ๒ วิธี คือ..

  ๑. นำ "ไข่เป็ด" ที่ยังไม่สุกมาลอยในน้ำเอียด..

  #ถ้าไข่เป็ด "ไม่จมน้ำ" แสดงว่าความเค็มมากสามารถนำมาต้มเป็นเกลือได้..

  #ถ้าไข่เป็ด "จมน้ำ" แสดงว่าความเค็มยังไม่เพียงพอที่จะนำมาต้มเป็นเกลือ..


 ๒. ใช้ "ครั่งหรือขี้ครั่ง" ขนาดก้อนเท่าหัวแม่มือ นำมาลอยในน้ำเอียด..

  #ถ้า "ก้อนครั่งลอย" แสดงว่ามีความเค็มมาก..

(*เช่นเดียวกับการวัดด้วยไข่เป็ด)


เมื่อได้ "น้ำเอียด" ที่สามารถต้มเป็นเกลือได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ..

นำน้ำเอียดมา "เคี่ยวหุง" โดยใช้ "กะทะที่ทำจากแผ่นสังกะสี" สุมไฟไปตลอด จนน้ำระเหยกลายเป็น "ผลึกเกลือสีขาวขุ่น"


จากนั้น "ตักเกลือ" ใส่ตระกร้าไม้ไผ่ ผึ่งเกลือไว้ให้แห้ง..

เสร็จแล้วก็นำเกลือมาบรรจุ "กะทอ"

(*ที่ทำด้วยไม้ไผ่สานอย่างชะลอม) เป็นรูปทรงกระบอก..


"ขนาด" ของกะทอขึ้นอยู่กับผู้ใช้..

ส่วนใหญ่ขนาดพอบรรจุเกลือ ที่มีน้ำหนัก ๑ หมื่น (๑๒ กิโลกรัม) ก่อนบรรจุเกลือ ใช้ "ใบไม้" รองด้านใน..


"เกลือกะทอ" ของชาวอีสานในอดีต

เป็นทั้งสินค้าซื้อขาย และแลกเปลี่ยนของพ่อค้าทางไกล..

ชาวอีสานเรียกว่า "นายฮ้อยเกลือ"


"เกลือกะทอ" สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานแรมปี..

"เกลือกะทอ"หนัก ๑๒ กิโลกรัม ราคาประมาณ ๑๕๐ - ๒๐๐ บาท (*พุทธศักราช ๒๕๕๙)


"ระยะเวลา" การผลิตเกลือสินเธาว์

อยู่ระหว่างเดือน "กุมภาพันธ์" ไปจนถึงปลายเดือน "เมษายน" ของทุกปี..


ปัจจุบัน ในภาคอีสานมีการผลิตเกลืออยู่ ๓ รูปแบบ คือ..

  ๑. การผลิตเกลือ "แบบดั้งเดิม"

(*ดังที่กล่าวมาข้างต้น) นิยมผลิตทั่วไปในบริเวณจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี กาฬสินธุ์..


  ๒. การผลิตเกลือโดยวิธี "สูบน้ำเกลือจากใต้ดิน" ขึ้นมาเคี่ยวหุง..

ชุมชนที่ผลิตเกลือลักษณะนี้คือ..

"บ่อเกลือหัวแฮด" บ้านท่าสะอาด ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ..


  ๓. การผลิตเกลือด้วยวิธี "สูบน้ำเค็มจากใต้ดิน" ขึ้นมาตากแดด ที่เรียกว่า "นาเกลือ"

อยู่ที่ "อำเภอบ้านดุง" จังหวัดอุดรธานี..

และ "อุตสาหกรรมเกลือบริสุทธิ์" อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา..


*****

**กราบขอบพระคุณรายละเอียดของข้อมูลทั้งหมดจาก..

(*คุณ "จักรมนตรี เซียงบี ชนะพันธ์")

มา ณ ที่นี้เป็นอย่างสูงด้วยนะคะ..🙏🌺


............................................

#Photograph : Dr. Robert Larimore Pendelton

#Image Source : Univetsity of Wisconsin-Milwaukee Libraries