ขายเกลือเสริมไอโอดีนถุงเล็ก

เกลือไอโอดีน

  ขายเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน ถุงเล็ก ขายส่งเหมาะสำหรับ ร้านค้าปลีก-ร้านค้าส่ง เพื่อจำหน่ายหรือ โรงพยาบาล สาธารณสุข รพ.สต.​ โรงพยาบาลส่งเสริม...

เรื่องเกลือ

เรื่องของเกลือ


                    ในปัจจุบัน เกลือเป็นของหาง่ายและราคาถูกจนทำให้เราไม่ค่อยได้นึกถึงความสำคัญของมันเท่าใดนัก ความจริงแล้ว เกลือมีความจำเป็นต่อชีวิตและความเจริญของมนุษย์มาโดยตลอด  เรื่องราวของเกลือทั้งในอดีตและปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเกลือเป็นสารชนิดหนึ่ง  ซึ่งร่างกายจะขาดเสียมิได้  เกลือทำหน้าที่ควบคุมปริมาณของน้ำในร่างกาย  ซึ่งรวมทั้งน้ำในเซลล์ต่าง ๆ และโลหิต  ความดันของโลหิต และความเป็นกรดหรือด่างของร่างกายก็ควบคุมโดยเกลือเช่นเดียวกัน ร่างกายมีวิธีควบคุมปริมาณของเกลือในสิ่งต่าง ๆ ให้เหมาะอยู่เสมอ  เกลือที่เรารับประทานเข้าไปเมื่อไปถึงลำไส้เล็กจะซึมเข้าโลหิต แล้วกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย  ในที่สุดร่างกายจะถ่ายเกลือออกมากับเหงื่อและปัสสาวะ  ถ้าเรารับประทานเกลือมากกว่าที่ร่างกายต้องการ  ร่างกายก็จะขับเกลือออกมามากกว่าปกติ  จนกระทั่งเกลืออยู่ในร่างกายพอเหมาะ  ฉะนั้นในเหงื่อและปัสสาวะของคนที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็มจัด  ซึ่งมีเกลืออยู่มากกว่าคนอื่น ในโอกาสใดก็ตาม ถ้าเรารับประทานเกลือไม่พอกับความต้องการของร่างกาย  การขับถ่ายเกลือออกก็ลดลง  ด้วยเหตุนี้คนที่อดอาหารเป็นเวลาหลายวัน  จึงแทบไม่มีเกลืออยู่ในปัสสาวะเลย

                    วันหนึ่ง ๆ เรารับประทานเกลือไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรสอาหารที่เราชอบและปริมาณของน้ำที่ร่างกายเสียไป  น้ำที่ออกมาจากร่างกาย  จะมีเกลือติดมาด้วยเสมอ  ด้วยเหตุนี้ เมื่อใดร่างกายต้องเสียน้ำมาก  เช่น  เวลาออกกำลังกายหรืออยู่ในที่ร้อน  เมื่อนั้นปริมาณเกลือก็ลดลงมาก  ร่างกายจึงต้องการเกลือมากกว่าปกติ  หรือเมื่อถ่ายท้องมาก ๆ   เช่น  ขณะเป็นอหิวาตกโรค  ร่างกายจะเสียเกลือมากจนเป็นอันตรายได้  จึงจำเป็นต้องมีการฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโลหิตเพื่อเป็นการทดแทนเกลือของร่างกายที่เสียไปตามปกติร่างกายได้เกลือจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป  เช่น  ปนอยู่ในกะปิ  น้ำปลา และอาหารเค็มต่าง ๆ  นอกจากนี้  เนื้อ  ปลา  น้ำนม  ผักและผลไม้ต่าง ๆ  ยังมีเกลืออยู่ตามธรรมชาติด้วย  อาหารจำพวกเนื้อและนมมีเกลืออยู่มากเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย  ฉะนั้นในสมัยก่อน  เมื่อคนรับประทานเนื้อและเลือดสัตว์เป็นอาหารส่วนใหญ่จึงไม่มีความต้องการเกลือเป็นพิเศษ  ต่อมาเมื่อมนุษย์ใช้พืชเป็นอาหารมากขึ้น  ความต้องการรับประทานเกลือจึงเพิ่มขึ้น  คนป่าในแอฟริกาบางจำพวกไม่มีเกลืออย่างของเรา  จึงต้องดื่มเลือดหรือปัสสาวะสัตว์แทนสัตว์อื่น ๆ  ก็ต้องการเกลือเช่นเดียวกับมนุษย์เหมือนกัน  สัตว์ที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหารก็ได้เกลือมาพร้อมกับอาหารนั้น  แต่สัตว์กินหญ้าหรือพืชอื่นได้เกลือจากอาหารไม่พอ  จำเป็นต้องแสวงหาเกลือกินเป็นการเพิ่มเติม  บางครั้งสัตว์พวกนี้ต้องเดินทางไปไกล ๆ  เพื่อแสวงหาเกลือจากดินโป่ง ในทำนองเดียวกัน  สัตว์เลี้ยง เช่น  ม้า  วัว  และควาย ก็มีความต้องการเกลือเพิ่มเติม  เมื่อสัตว์เหล่านี้กระหายเกลือมาก ๆ จะเลียเกลือจากผิวหนังของตัวเอง  หรือจากเสื้อผ้าและมือของคนเลี้ยงปริมาณเกลือที่ใช้ในปีหนึ่ง ๆ เพิ่มขึ้นตามความเจริญของมนุษย์  ในตอนแรก ๆ มนุษย์ใช้เกลือปรุงแต่งรสอาหารเท่านั้น  ต่อมาเมื่อค้นพบว่าเกลือช่วยรักษาปลาและเนื้อสัตว์อื่นมิให้เน่าเปื่อยได้ด้วย  ปริมาณเกลือที่ใช้จึงเพิ่มเป็นเงาตามตัว  จนในปัจจุบันนี้  เราต้องใช้เกลือในปีหนึ่ง ๆ ไม่น้อยกว่า  ๘๐ ล้านตัน  ซึ่งเกลือจำนวนนี้ส่วนมากใช้สำหรับการอุตสาหกรรม  แทบจะไม่มีอุตสาหกรรมใดเลยที่ไม่ต้องใช้เกลือ  ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม

                   เกลือที่กล่าวมาข้างต้นนี้  ในทางวิชาเคมีถือว่าเป็นสารประกอบ  เพราะเกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างธาตุสองธาตุ  คือ  ธาตุโซเดียมซึ่งเป็นโลหะ  และธาตุคลอรีนซึ่งเป็นก๊าซสีตองอ่อน มีกลิ่นฉุน  เมื่อเราผ่านกระแสไฟฟ้าลงไปในเกลือทำให้ร้อนจัดจนกระทั่งหลอมตัว  ธาตุทั้งสองจะแยกตัวออกจากกันเป็นโลหะโซเดียม และก๊าซคลอรีนกลับออกมา  วิธีนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ผลิตโลหะโซเดียมและก๊าซคลอรีนจากเกลือ  นอกจากนี้แล้วเรายังสามารถเปลี่ยนเกลือให้เป็นสารประกอบอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ได้อีกมากมายหลายชนิด  ด้วยเหตุนี้เกลือจึงเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ  ทั้งโดยตรงและทางอ้อม  เช่น  อุตสาหกรรมทำกระดาษ  แก้ว  พลาสติก  เสื้อผ้า  ยาฆ่าแมลง และยารักษาโรค  เป็นต้น  ประเทศใดที่มีความเจริญทางอุตสาหกรรมมากก็จำเป็นต้องใช้เกลือมาก  เช่น  บางประเทศ  ในปีหนึ่ง ๆ จะใช้เกลือถึง  ๒๔ ล้านตัน  บางประเทศใช้ปีละประมาณ  ๓ ล้านตัน  ส่วนประเทศเราใช้เพียงปีละประมาณ  ๑ แสนตันเท่านั้น

เกลือที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้  มีกำเนิดมาจากทะเลทั้งสิ้น  แม้กระทั่งเกลือสินเธาว์  หรือเกลือหิน  นักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าบริเวณซึ่งพบเกลือหินนั้น  ครั้งหนึ่งเคยเป็นทะเลมาก่อน  เมื่อน้ำทะเลแห้งลงด้วยการระเหย  เกลือก็จะแยกตัวออกมาทับถมอยู่ในทะเลนั้น   ต่อมาเมื่อน้ำทะเลแห้งหมด  และมีดินเกิดขึ้นปกคลุมเกลือเหล่านั้น  ก็กลายเป็นเกลือหินไป  เกลือซึ่งมีอยู่ในทะเลสาบ  ในน้ำบาดาล  หรือเกลือที่มีอยู่ในดินซึ่งเราละลายออกมาแล้วเคี่ยวให้แห้งเป็นเกลือสินเธาว์นั้น  ก็ล้วนแต่เป็นเกลือซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในทะเลเช่นเดียวกัน

                   ในปัจจุบัน  เกลือหินซึ่งพบอยู่ใต้ดิน ได้มีผู้ขุดหรือละลายขึ้นมาใช้มากกว่าเกลืออื่น ๆ  เพราะเป็นเกลือที่มีความบริสุทธิ์สูงและราคาถูก  ส่วนประเทศที่ไม่มีเกลือหินแต่มีสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสมก็ผลิตเกลือจากน้ำทะเล  โดยการทำนาเกลือ  ส่วนประเทศเรานั้นถึงแม้จะมีเกลือหินอยู่มากก็ยังคงต้องผลิตเกลือจากน้ำทะเลต่อไปอีกนานหรือจนกว่าค่าใช้จ่ายในการขุดเกลือหินตลอดจนค่าขนส่งลดลงมากเพียงพอที่จะทำให้ราคาเกลือหินสู้ราคาเกลือสมุทรได้

ประเทศเราผลิตเกลือสมุทรได้ปีละประมาณ  ๓-๔ แสนตัน   ในจำนวนนี้เราใช้เองภายในประเทศราวหนึ่งแสนตัน  ที่เหลือเราส่งไปขายยังต่างประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นใช้เกลือที่ซื้อไปสำหรับการอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่  เกลือสำหรับใช้อุตสาหกรรมนี้  ถ้าเป็นเกลือที่มีคุณภาพสูง  กล่าวคือเป็นเกลือที่มีสิ่งอื่นซึ่งไม่ใช่เกลือปนอยู่น้อย  ก็จะไม่ทำให้เกิดความยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายในการทำให้เกลือนั้นบริสุทธิ์ก่อนใช้มากนัก  ตรงกันข้าม  ถ้าเกลือมีสิ่งอื่นเจือปนอยู่มาก ค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากในการทำให้เกลือบริสุทธิ์ก็จะเพิ่มขึ้นมาก  อีกประการหนึ่งผู้ซื้อยังต้องเสียค่าขนส่งสำหรับสิ่งอื่นซึ่งติดไปกับเกลือด้วย  โดยเหตุนี้โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงแสวงหาเกลือที่มีคุณภาพสูงเสมอ  เกลือที่เราผลิตขึ้นมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันมีความบริสุทธิ์ประมาณร้อยละ  ๘๖ เท่านั้น  ในสมัยก่อนเมื่อประเทศญี่ปุ่นหาซื้อเกลือที่มีคุณภาพสูงราคาต่ำจากที่อื่นไม่ได้มากพอ  ก็ซื้อเกลือซึ่งมีคุณภาพต่ำของเราไปใช้เป็นจำนวนมาก  ในปัจจุบัน  ประเทศญี่ปุ่นสามารถซื้อเกลือที่มีความบริสุทธิ์เกินร้อยละ  ๙๐ ขึ้นไป  จากประเทศอื่นได้เพียงพอ  จึงซื้อเกลือจากประเทศเราน้อยลง  ยังผลให้ราคาเกลือในประเทศของเราต่ำลงมาก  จนเป็นที่เดือดร้อนแก่ชาวนาเกลือดังที่ทราบกันอยู่แล้ว

เพื่อแก้ไขปัญหานี้  กรมวิทยาศาสตร์ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ศึกษาและหาวิธีปรับปรุงคุณภาพของเกลือของเราให้ดีขึ้น   จากการศึกษาค้นคว้าโดยละเอียด  กรมวิทยาศาสตร์พบว่าการที่เราผลิตได้เกลือที่มีคุณภาพต่ำนั้น  เป็นเพราะธรรมชาติโดยแท้   มิใช่เป็นเพราะชาวนาเกลือของเราใช้วิธีไม่เหมาะสม   ดังที่คนส่วนมากเข้าใจแต่อย่างใดเลย    ผู้เขียนได้ไปศึกษาวิธีทำนาเกลือของประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ  รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมากที่ว่า  วิธีที่ชาวนาเกลือใช้อยู่นี้ก็เป็นวิธีเดียวกับที่ใช้ในประเทศอื่น ๆ ที่ผลิตเกลือมีคุณภาพสูงได้ แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็มิได้ใช้วิธีดีไปกว่าชาวนาเกลือของเราเลย  บางประเทศเสียอีกยังใช้วิธีที่ล้าสมัยกว่าประเทศเราแต่กลับได้เกลือที่ดีกว่า  ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่น่าสนใจไม่น้อยความจริงแล้ว ยังมีอยู่หลายประเทศที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับประเทศเรา และยังมิได้แก้ปัญหานั้นให้ลุล่วงไปได้  ส่วนมากก็โทษผู้ผลิตเช่นเดียวกันกับที่เราได้เคยโทษชาวนาเกลือมาแล้วนั้นเอง

การค้นพบเหตุที่ทำให้เกลือมีคุณภาพต่ำตลอดจนวิธีแก้ไขของกรมวิทยาศาสตร์นี้  นับว่าเป็นของใหม่ไม่มีใครทราบมาก่อนเลย  ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  การค้นพบครั้งนี้  จึงมิได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศเราเท่านั้น  แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่น ๆ ทั้งในด้านวิชาการและในทางปฏิบัติด้วย   สิ่งที่กรมวิทยาศาสตร์ค้นพบนั้น  อาจจะสรุปกล่าวได้สั้น ๆ ดังนี้  คือ  ถ้าน้ำทะเลซึ่งปล่อยให้ระเหยไปโดยแดดและลมจนข้นพอที่จะเกิดเม็ดเกลือหรือที่เรียกว่า “น้ำเชื้อ”  มีสารชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่ามังกานีสปนอยู่ประมาณ  ๒-๔ ส่วนในน้ำเชื้อล้านส่วน  แล้วเกลือที่เกิดขึ้นจะมีคุณภาพต่ำ  ถ้าน้ำทะเลนั้นมีมังกานีสน้อยหรือมากกว่านี้  เกลือก็จะมีคุณภาพสูงขึ้นตามส่วน  จากการวิเคราะห์  ปริมาณมังกานีสในน้ำเชื้อจากนาเกลือต่าง ๆ  ทั้งในประเทศเรา หรือที่เก็บมาจากประเทศอื่นหลายประเทศก็ปรากฏว่าเป็นไปตามที่กล่าวแล้วนั้น  น้ำเชื้อจากนาเกลือของเราส่วนมากมีมังกานีสอยู่ในปริมาณที่จะทำให้เกลือซึ่งมีคุณภาพต่ำพอดี   ส่วนน้ำเชื้อในนาเกลือจากประเทศที่ผลิตเกลือได้ดี  มีมังกานีสอยู่น้อยกว่าน้ำเชื้อในนาเกลือของเรามากมังกานีสซึ่งพบอยู่ในน้ำเชื้อเข้มข้นนั้น  ส่วนมากละลายมาจากดินพื้นนานั้นเอง  ดินในบริเวณนาเกลือของเรามีมังกานีสอยู่มากกว่าดินในบริเวณนาเกลือของประเทศอื่นถึง  ๑๐ เท่า  จึงนับว่าเป็นโชคร้ายของเราโดยแท้

อย่างไรก็ตาม  ปัญหานี้พอมีทางจะแก้ไขได้ คือ เมื่อเราพบว่าน้ำเชื้อที่มีมังกานีสอยู่น้อยจริง ๆ หรือมีอยู่มากจริง ๆ ให้เกลือที่มีคุณภาพสูง  วิธีปรับปรุงคุณภาพเกลือจึงขึ้นอยู่กับการแยกมังกานีสออกมา  หรือเติมมังกานีสเข้าไป  กรมวิทยาศาสตร์ได้ทดลองแล้วปรากฏว่าได้ผลดีทั้งสองวิธี   แต่ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์กำลังแนะนำให้ชาวนาเกลือใช้วิธีแรก  คือ  แยกมังกานีสออกมา  วิธีนี้ทำได้ง่ายและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  กล่าวคือเพียงแต่เติมปูนขาวจำนวนหนึ่งลงไปในน้ำเชื้อ  มังกานีสก็จะแยกตัวออกมาและไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการตกผลึกของเกลืออีกต่อไป  เกลือที่ได้มีคุณภาพสูงเกินร้อยละ  ๙๐ และถ้าทำได้ถูกต้องจริงแล้ว  คุณภาพของเกลือจะสูงขึ้นได้ถึงร้อยละ  ๙๗    สรุปได้ว่า  บัดนี้เราได้แก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพเกลือของเราได้แล้ว  ถ้าได้มีการแก้ปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายและผลิตเกลือให้ลุล่วงไปได้อีกด้วย  อุตสาหกรรมทำนาเกลือของเราก็จะเจริญขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งได้  แต่ถ้าไม่มีใครเหลียวแล  เพราะความเบื่อหน่ายก็ดี  หรือมองไม่เห็นประโยชน์และความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ก็ดี  สิ่งที่กรมวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบด้วยความยากลำบากนี้ก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศของเราเลย  แต่กลับเป็นประโยชน์แก่ประเทศอื่น ๆ ซึ่งกำลังปรับปรุงอุตสาหกรรมการทำนาเกลือของเขาอย่างจริงจัง  จึงขอฝากข้อคิดนี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วย


ขอขอบคุณบทความดีดีจาก สถาบันปรีดี พนมยงค์

สารพัดประโยชน์เกลือ

 
       เกลือ ที่เราใช้ปรุงรสอาหารในครัวเรือนนั้น มีประโยชน์มากมายนอกจากจะปรุงรสในอาหารแล้ว ยังเพิ่มสารไอโอดีน ช่วยไม่ให้เป็นโรคคอหอยพอกได้อีกด้วย และที่ไม่น่าทึ่งเกี่ยวกับประโยชน์ของเกลือ ก็คือ สามารถรักษาโรคต่างๆได้มากมาย  เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราไปดูกันซิว่า "เกลือ" (salt)  รักษาโรคอะไรได้บ้าง
   
          ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเกลือ กันก่อนว่า คือ อะไร :
ทางวิทยาศาสตร์การอาหาร เกลือนั้นหมายถึง เกลือที่ใช้ในการปรุงอาหาร (cooking salt หรือ table salt) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า Sodium Chloride (NaCl) เกลือบริสุทธิ์นั้นมีลักษณะสีขาว  ผลึกรูปร่างไม่คงที่  แต่จัดว่าเป็นแบบ ลูกบาศก์ (Cubic system) เกลือมีคุณสมบัติในการดูดความชื้น (hygroscopic) และจะมีคุณสมบัตินี้มากขึ้น ถ้าเกลือนั้นไม่บริสุทธิ์
ทางเคมี เกลือ เป็นสารประกอบ ไอออนิก (ionic compound) ประกอบด้วยแคตไอออน (cation : ไอออนที่มีประจุบวก) และแอนไอออน (anion : ไอออนที่มีประจุลบ) ทำให้ผลผลิตที่ได้เป็นกลาง (ประจุสิทธิเป็นศูนย์) ไอออนเหล่านี้อาจเป็นอนินทรีย์ (Cl-) กับอินทรีย์ (CH3COO-) และไอออนอะตอมเดี่ยว (F-) กับไอออนหลายอะตอม (SO42-) เกลือจะเกิดขึ้นได้เมื่อกรดและเบสทำปฏิกิริยาด้วยกัน โดยมีคุณสมบัติดังนี้

    เกลือ เป็นสารประกอบ สถานะปกติเป็นของแข็ง ไม่นำไฟฟ้า
    เกลืออาจจะละลายน้ำหรือไม่ละลายน้ำก็ได้  หากละลายน้ำจะทำให้น้ำเป็นสารละลาย (อิเล็กโทรไลต์) เพราะเกลือแตกตัวเป็นไอออนทำให้น้ำนั้นนำไฟฟ้าได้
    สารละลายเกลืออาจเป็นกรด กลาง หรือเบสก็ได้

- เกลือที่มีคุณสมบัติเป็นกรด เกิดจาก กรดแก่ + เบสอ่อน
-เกลือที่มีคุณสมบัติเป็นกลาง เกิดจาก กรดแก่ + เบสแก่
-เกลือที่มีคุณสมบัติเป็นเบส เกิดจาก กรดอ่อน + เบสแก่
เกลือที่เรารู้จักโดยทั่วไปคือ เกลือแกง มีสภาพเป็นกลาง เกลือแกง มีรสเค็ม ใช้ในการปรุงรส เกลือแกงมีคุณสมบัติในการดูดน้ำออกจากเนื้อสัตว์  ผัก ทำให้สามารถช่วยชะลอระยะเวลาอาหารเสียช้าลง
เกลือเรียกตามแหล่งที่มา มี 2 ประเภทได้แก่

    เกลือสมุทร (Sea salt) คือ เกลือที่ได้จากสูบน้ำทะเลเข้ามาขังไว้ในที่นา ผึ่งแดดและลมจนน้ำระเหยเหลือแต่ผลึกเกลือสีขาว
    เกลือสินเธาว์ หรือ เกลือหิน คือ เกลือที่ได้จากดินเค็ม โดยการปล่อยน้ำลงไปละลายหินเกลือที่อยู่ใต้ดินแล้วจึงสูบน้ำกลับขึ้นมาตากหรือต้มให้น้ำระเหยไป

 ลักษณะของเกลือแบ่งเป็น 2 ชนิด

    เกลือเม็ด ผลิตโดยชาวนาเกลือทะเลและผู้ผลิตเกลือสินเธาว์ด้วยวิธีตาก นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การดองผักผลไม้ และไอศกรีม
    เกลือป่น ผลิตโดยโรงงานเกลือป่นที่ซื้อเกลือเม็ดจากชาวนาเกลือมาแปรรูปเป็นเกลือป่น และผู้ผลิตเกลือสินเธาว์ด้วยวิธีการต้ม เกลือป่นที่ไม่ต้องผ่านการแปรรูปนิยมทำเป็นเกลือบริโภคตามบ้านเรือน

คุณสมบัติในการรักษาโรคของเกลือ

    ไอเพราะเป็นหวัด แค่เอาน้ำเปล่า 1 ถ้วย มาเหยาะเกลือลงไป 1 ช้อนชา คนเบาๆ จนกว่าเกลือจะละลาย แล้วใช้บ้วนปากกลั้วคอหลายๆ ครั้ง ความเค็มจะเข้าไปละลายเสมหะในลำคอ ทีนี้ก็ไม่ต้องไอให้คนข้างๆ รำคาญแล้ว
    มึนหัว สมองไม่แล่น สาวทำงานที่เจอแบบนี้อย่ารอช้า รีบรองน้ำอุ่นให้เต็มถัง หยอดเกลือลงไป 2-3 ช้อนชา แล้วเอามาอาบ รับรองว่าสมองจะโล่งคิดงานได้รวดเร็ว  เพราะเกลือช่วยกระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนดี มีเลือดไปหล่อเลี้ยงสมอง
    เร่งให้อาเจียน ถ้าบังเอิญกินสารพิษเข้าไป หรืออึดอัดอาหารไม่ย่อย จนต้องทำให้อาเจียนออกมา ให้ดื่มน้ำเกลือเข้มข้นแก้วใหญ่ๆ ไม่นานจะได้อาเจียนสมใจ
    คัดจมูก จะแค่คัดจมูกน้ำมูกไหล หรือลุกลามจนกลายเป็นโรคจมูกอักเสบก็ตาม ให้ใช้น้ำเกลือเจือจางหยอดเข้าไปในรูจมูกทั้งสองข้าง เกลือจะช่วยฆ่าเชื้อโรคในโพรงจมูก จะได้หยุดซี้ดซ้าดปาดน้ำมูกได้เสียที
    คันตามผิวหนัง ทาบริเวณที่คันด้วยน้ำเกลือ เชื้อราบริเวณนั้นจะสิ้นฤทธิ์
    โรคตาแดง โรคนี้มีเชื้อโรคเป็นตัวการอยู่เบื้องหลัง แต่สามารถปฐมพยายาบาลตัวเองก่อนถึงมือหมอได้ง่ายๆ ด้วยการเอาผ้าขนหนูสะอาดๆ (ถ้าต้มฆ่าเชื้อโรคก่อนได้ยิ่งดี) จุ่มน้ำเกลือแล้วเอามาเช็ดตา อาจจะแสบบ้างแต่นั่นล่ะคือยาดี หลังจากที่เกลือเข้าไปฆ่าเชื้อโรคในตาแล้ว ก็ล้างตาหลายๆ ครั้งด้วยน้ำสะอาด อาการบวมแดงมีขี้ตาของคุณจะทุเลาลง
    แผลยุงกัด ถ้าใครถูกเจ้ายุงตัวร้ายมาขอบริจาคเลือดไป แถมยังทิ้งรอยแผลไว้เป็นที่ระลึก อย่ามัวแต่เกาให้เสียลุคส์สาวงาม รีบๆ ใช้น้ำเกลือทาที่รอยแผล ไม่นานความคันจะหายไป และรอยบวมก็จะยุบเร็ว

          ทีนี้เพื่อนๆ เชื่อหรือยังคะว่า  เกลือมีประโยชน์สารพัดจริงๆ รู้อย่างนี้แล้วเราก็ควรหันมาให้ความสนใจกับเลือมากกว่าที่จะรู้จักเกลือในฐานะเครื่องปรุงรสอาหารเท่านั้น


บทความดีดีจากเว็บเพื่อนบ้านครับ..